เกี่ยวกับภาควิชา / วิชาชีพของนักเคมีอุตสาหกรรม

        นักเคมีอุตสาหกรรม จะมีวิชาชีพในลักษณะที่เป็นนักเทคโนโลยีทางเคมีหรือเคมีประยุกต์ เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมี เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาในด้านกระบวนการและกรรมวิธีทางเคมี ในการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดต่าง ๆ อุตสาหกรรมเหล่านั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีพื้นฐาน ทั้ง อนินทรีย์และอินทรีย์เคมี ตลอดจนอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยงข้องกับเทคโนโลยีทางเคมีอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากแก๊สธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียม พอลิเมอร์ เส้นใยและสิ่งทอ น้ำตาล แป้ง กระดาษ ปุ๋ยเคมี เซรามิก และโลหะต่าง ๆ เป็นต้น

        นักเคมีอุตสาหกรรม จะเป็นผู้รับผิดชอบงานในกระบวนการทำผลิตภัณฑ์ของโรงงาน ด้วยการควบคุมดูแลในด้านคุณภาพทางเคมี และความบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่วัตถุดิบ และการติดตามควบคุมในระหว่างขั้นตอนการผลิตไปจนถึงเมื่อได้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายออกมา ทั้งนี้จะต้องทำงานควบคู่ไปกับ วิศวกรเคมี ผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานการผลิตด้านอุปกรณ์และเครื่องมือในกระบวนการทำผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

        นักเคมีอุตสาหกรรม ยังช่วยงานด้านการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ด้วยการศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อให้เกิด ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพใหม่ๆ เป็นที่สนใจต่อผู้อุปโภค-บริโภค และอาจพบกรรมวิธีทางเคมีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานได้ งานในหน้าที่เกี่ยวกับเคมีเทคโนโลยี หรือเคมีประยุกต์ดังกล่าว นอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อโรงงานอุตสาหกรรมเคมีแล้ว ยังเหมาะสมและสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ในเรื่องการศึกษาและทำ ผลิตภัณฑ์เคมีต่าง ๆ อีกด้วย

        นักเคมีอุตสาหกรรม มีทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในสายงานกระบวนการผลิต ของโรงงาน ตลอดจนหน่วยสนับสนุนการผลิตอื่นๆ เช่น หน่วยเครื่องกำเนิดไอน้ำ หน่วยปรับสภาพน้ำ หน่วยบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น หรือ ดำเนินการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนาหน่วยปฏิบัติการในกระบวนการผลิต ทำงานในสายงานวิจัยของโรงงาน นอกจากนี้ ยังสามารถประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม หรือทำงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องจักรกล วัสดุ และสารเคมี ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเคมี ในการ ศึกษาต่อ สามารถศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเคมีอุตสาหกรรม วิศวกรรมเคมี เคมีเทคโนโลยี ปิโตรเคมี ฯลฯ บัณฑิตของหลักสูตรเคมีอุตสาหกรรม มีอัตราการได้งานทำและศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาภายใน 5 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยประมาณ 80% และ 13% ตามลำดับ รวมเป็น 93% สัดส่วนการเข้าทำงานในภาคเอกชนต่อภาครัฐประมาณ 95%: 5% และบัณฑิตที่ทำงาน 55% มีอัตราเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท และ 35% มีอัตราเงินเดือน 10,000-15,000 บาท